สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 11 (สศท.11)

ข่าวที่ 66/2568 สศท.6 ชี้ผลสำเร็จโครงการนำร่องการแก้ไขปัญหาลดผลกระทบจากช้างป่า พื้นที่บ้านหนองกระทิง จ.ฉะเชิงเทรา ช่วยเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ลดรายจ่ายครัวเรือน

สศท.6 ชี้ผลสำเร็จโครงการนำร่องการแก้ไขปัญหาลดผลกระทบจากช้างป่า พื้นที่บ้านหนองกระทิง จ.ฉะเชิงเทรา ช่วยเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ลดรายจ่ายครัวเรือน

นางสาวนริศรา เอี่ยมคุ้ย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 ชลบุรี (สศท.6) สำนักงานเศรษฐกิจ การเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีนโยบายขับเคลื่อนงานโครงการพระราชดำริมาอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาทางด้านการเกษตรและส่งเสริมให้เกษตรกรมีความมั่นคงในอาชีพ โดยดำเนินการจัดทำโครงการนำร่องเพื่อแก้ไขปัญหาทางด้านการเกษตรน้อมนำแนวพระราชดำริมาปรับใช้ในพื้นที่ ซึ่งในปีงบประมาณ 2567 พื้นที่บ้านหนองกระทิง ตำบลท่ากระดาน อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้รับคัดเลือกเป็นพื้นที่เป้าหมายโครงการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตร โดยน้อมนำแนวพระราชดำริมาปรับใช้ในพื้นที่ เพื่อพัฒนาการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สินค้าเกษตร พัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยช้างป่า สร้างอาชีพและรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ให้มีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น โดยมีสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดฉะเชิงเทราเป็นหน่วยงานหลัก และมีหน่วยงานในพื้นที่ทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมบูรณาการกว่า 12 หน่วยงาน ซึ่งในส่วนของ สศท.6 จะเป็นหน่วยงานหลักในการติดตามผลการดำเนินงานและเสนอแนะแนวทางในการปรับปรุงรูปแบบ กระบวนการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ภายใต้โครงการดังกล่าว

สำหรับโครงการนำร่องเพื่อแก้ไขปัญหาทางด้านการเกษตรน้อมนำแนวพระราชดำริมาปรับใช้ในพื้นที่บ้านหนองกระทิง ตำบลท่ากระดาน อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 2 ปี (2567 – 2568) กลุ่มเป้าหมายเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 106 ราย ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายของโครงการ โดยมีกิจกรรมสำคัญ 4 กิจกรรม ได้แก่ 1) กิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาอาชีพด้านการเกษตร รวมทั้งจัดอบรมถ่ายทอดความรู้ เกษตรกรได้รับความรู้การทำน้ำพริกแปรรูป ขยายผลการผลิตและใช้ชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดศัตรูพืชเพื่อการผลิตพืชผักอินทรีย์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ พืชอาหารสัตว์และสาธิตการทำอาหารลดต้นทุน และการปรับปรุงบำรุงดิน 2) กิจกรรมการสนับสนุนปัจจัยการผลิต เกษตรกรได้รับการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดี เมล็ดพันธุ์ผัก พันธุ์พืช เช่น มะนาว พืชสมุนไพร และพันธุ์สัตว์น้ำ เช่น ปลานิล ปลาตะเพียน และกบ พันธุ์สัตว์ปีก เช่น พันธุ์เป็ดปากน้ำ และพันธุ์ไก่เขาหินซ้อน รวมถึงสารเร่ง พด. 1 และพด. 2 3) กิจกรรมการจัดทำแปลงเรียนรู้ ได้มีการจัดทำแปลงเรียนรู้จำนวน 20 ไร่/20 ราย ตามเป้าหมาย ได้แก่ แปลงเรียนรู้ส่งเสริมการเกษตรด้านการจัดการโรคและแมลงศัตรูพืชด้วยวิธีผสมผสาน และแปลงเรียนรู้สำหรับเกษตรกรต้นแบบด้านการจัดการโรคและแมลงศัตรูพืชด้วยวิธีผสมผสาน และ 4) สนับสนุนระบบคลองส่งน้ำ   คำสงถึงสระประปาด้วยสถานีสูบน้ำ จำนวน 1 แห่ง มีการพิจารณาความเหมาะสมของพื้นที่ สำรวจและออกแบบ รวมถึงมีการเสนอของบประมาณเพื่อดำเนินการตามแผน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมด้านการขออนุญาตใช้พื้นที่ในการก่อสร้างในเขต สปก. และเขตทางหลวงชนบท

สศท.6 ติดตามผลสำเร็จของการดำเนินโครงการในรอบปีงบประมาณ 2567 โดยลงพื้นที่เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลจากเกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 106 ราย หลังจากเข้าร่วมโครงการ 1 ปี พบว่า ภาพรวมของโครงการเกษตรกรมีความพึงพอใจระดับมากที่สุด ซึ่งหากพิจารณาในแต่ละด้าน พบว่า ด้านเศรษฐกิจ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมีรายได้จากการประกอบอาชีพการเกษตรเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 6,088 บาท/ครัวเรือน/ปี หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 34 เมื่อเทียบกับปี 2566 (ก่อนเข้าร่วมโครงการ) โดยรายได้เพิ่มขึ้นจากการประกอบกิจกรรมการเกษตร อาทิ การแปรรูปน้ำพริก จำหน่ายพืชผลทางการเกษตร เช่น พืชผัก ปลา ไก่เขาหินซ้อน ไข่เป็ดปากน้ำ เป็นต้น และสามารถลดรายจ่ายในครัวเรือนได้เฉลี่ย 4,358 บาท/ครัวเรือน/ปี หรือลดลงร้อยละ 32 จากการปรับเปลี่ยนมาบริโภคสินค้าเกษตรที่ผลิตได้ในครัวเรือน อาทิ พืชผักสวนครัว ไก่เขาหินซ้อน ไข่เป็ดปากน้ำ และปลา ส่วนค่าใช้จ่ายทางการเกษตร พบว่า เกษตรกรได้รับ  การสนับสนุนปัจจัยการผลิต อาทิ พันธุ์สัตว์ เมล็ดพันธุ์ผัก พันธุ์พืช และการประยุกต์ความรู้ที่ได้รับจากการถ่ายทอดทำให้เกษตรกรมีค่าใช้จ่ายทางการเกษตรลดลงเฉลี่ย 5,545 บาท/ครัวเรือน/ปี หรือลดลง ร้อยละ 27 ด้านสังคม เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ร้อยละ 98มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมภายในพื้นที่โครงการ อาทิ การปลูกป่า การดูแลพื้นที่สาธารณะในหมู่บ้าน และเกษตรกร ร้อยละ 75 มีการรวมกลุ่มเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเกษตร เช่น ผลิตน้ำพริกแปรรูป ด้านทรัพยากร เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการร้อยละ 84 เห็นว่าคุณภาพดินในพื้นที่เข้าร่วมโครงการดีขึ้น รองลงมา ร้อยละ 81เห็นว่าจำนวนพันธุ์พืชในพื้นที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้น และร้อยละ 72 เห็นว่าพันธุ์สัตว์น้ำในพื้นที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ในส่วนของความต่อเนื่องของการดำเนินกิจกรรมที่ได้รับการส่งเสริมภายใต้โครงการ พบว่า เกษตรกรทุกรายยังคงดำเนินการต่อเนื่องโดยนำความรู้และปัจจัยการผลิตมาใช้ในการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ในครัวเรือน และยังคงเข้าร่วมโครงการต่อไป

ทั้งนี้ สศท.6 ได้มีข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ภายใต้โครงการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขี้น อาทิ ส่งเสริมด้านการตลาดและแหล่งวางจำหน่ายน้ำพริกแปรรูปเพิ่มขึ้น เพิ่มปริมาณการขยายปัจจัยการผลิตที่มีอยู่แล้ว และหน่วยงานควรคัดเลือกเกษตรกรในการเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อนำความรู้ไปขยายผลรวมถึงควรมีการจัดทำแปลงเรียนรู้การเพาะปลูกข้าวเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสำหรับปีงบประมาณ 2568 สศท.6 ได้มีการติดตามผลการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยมุ่งเน้นการติดตาม จำนวน 6 ด้าน 1) ด้านการนำไปใช้ประโยชน์ 2) ด้านประสิทธิภาพการผลิต 3) ด้านเศรษฐกิจ 4) ด้านสังคม 5) ด้านทรัพยากร และ 6) ด้านความต่อเนื่อง เพื่อติดตามผลได้จากการดำเนินงานด้านการฝึกอบรมว่ามีการนำความรู้ที่ได้รับไปปฏิบัติใช้ ความพึงพอใจของเกษตรกรต่อการถ่ายทอดความรู้/จัดทำแปลงเรียนรู้ของโครงการ และปัจจัยการผลิตที่ได้รับการสนับสนุน รวมทั้งวิเคราะห์ปัญหา อุปสรรค และเสนอข้อคิดเห็น เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงการดำเนินงานกิจกรรมการดำเนินการและการจัดฝึกอบรมให้ตรงตามความต้องการและแก้ไขปัญหาร่วมกันต่อไป หากท่านใดสนใจข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามได้ที่ สศท.6 โทร 0 3835 2435 หรืออีเมล zone6@oae.go.th

***********************************************

ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์

ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 ชลบุรี–

ส่วนประชาสัมพันธ์ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

เลขที่ 50 ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร

กทม. โทร 02-9407239-40

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า